เสียงวิ่งดังตึงตังมาที่ห้องเรียนก่อนที่จะตามมาด้วย เสียงฟ้องดังลั่นจากเจ้าของเสียงวิ่งนั้น “ครูครับ พี่แป๋งเค้าแกล้งผม เค้าถ่มนำลายใส่หน้าผม” หน้าตามอม ๆ ของเด็กชายตัวดำที่ชื่อ จ้อน มีสีแดงก่ำ เสียงสั่นกำมือแน่น อาการบ่งบอกอารมณ์อันคุกกรุ่น หากประจันหน้ากับคู่อริ คงพร้อมที่จะชกต่อยประจันกันซึ่ง ๆ หน้า แต่ทว่า คู่อริ เป็นผู้หญิง เจ้าตัวจึงเก็บความแค้นมาเล่าให้ครูประจำชั้นของคู่อริรับทราบ เราสังเกตสีหน้าของคนเป็นโจทย์ แล้วจึงสั่งให้เพื่อนนักเรียนอีกคน ไปตามจำเลย “ พี่แป้ง “ ซึ่งเด็กชายดำให้การว่าเป็นคนผิด …..ศาลเตี้ย เกิดขึ้นอีกครั้ง ถึงไม่ใช่เปาบุ้นจิ้น แต่เมื่อเป็นครูของเค้า นักเรียนต้องการ ก็จำเป็นต้องเล่นไปตามบทบาทที่สมควรแก่ฐานะครู…
“ เด็กหญิงแป้ง” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นเด็กนักเรียนเรียนดี ความประพฤติดี รับผิดชอบ ช่วยเหลืองานในโรงเรียนดีมาก ต่างกับโจทย์ “ เด็กชายจ้อน “ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นเด็กค่อนข้างเกเร ก้าวร้าว แต่งกายสกปรก การเรียนอ่อน แต่หากคุณครูไหว้วานอะไร เด็กชายจ้อนรับอาสาช่วยทุกครั้งไป ครั้นสอบสวนทั้งโจทย์ จำเลย และ พยานบุคคล พยานฝ่ายโจทย์บอกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ส่วนพยายานฝ่ายจำเลย บอกว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อสอบถามจำเลย เด็กหญิงแป้ง ตอบครูด้วยเสียงมั่นใจว่า “ หนูไม่เคยทำเช่นนั้น “ พร้อมชี้แจงว่า เด็กชายจ้อน แกล้งเตะขา แล้วด่าพ่อกับแม่ แต่เจ้าตัวไม่ได้ทำอะไร เพียงเดินเลยผ่านไปเท่านั้น
นึกทบทวนหาวิธีออกให้กับทั้งคู่ไม่ได้ ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานฟังความทั้งสองฝ่ายแล้ว ไม่รู้จริง ๆว่าใครเป็นคนผิด เพียงแต่คิดว่ากรณีนี้ผิดทั้งคู่ จึงเอ่ยปากพูดกับคนทั้งคู่ว่า “ คุณครูไม่รู้จริง ๆ ว่าการตัดสินของครู จะยุติธรรมให้พวกเธอพอใจหรือเปล่า เพราะครูไม่ทราบว่าใครเป็นคนผิด เพียงแต่รู้ว่าเธอทั้งคู่ผิด บ้านอยู่ใกล้กัน หมู่บ้านเดียวกัน นับญาติไม่เกิน 3 รุ่น เธอก็พี่น้องกัน หรือครูพูดคำไหนผิดไป ? ทั้งคู่ก้มหน้าลงทันที “ เอาหล่ะกรณีนี้ครูให้คนเดือดร้อนเป็นเสนอมา จะให้ครูทำอย่างไร จึงจะเป็นที่พอใจ “ เด็กชายจ้อนเงียบไปครู่หนึ่ง ตอบเสียงดังฟังชัด “ ผมอยากให้พี่แป้งสาบานครับ” ครั้นหันไปทางจำเลย เด็กหญิงผงกหัวลงตอบรับ “ หนูยอมสาบานค่ะ “ เราโล่งอกไปหนึ่่งเปลาะ คราวนี้ยกภาระไปให้เจ้าพ่อต้นบักเหลือม ที่ทางโรงเรียนเชื่อว่าเป็นเจ้าที่ เป็นผู้ตัดสิน คำสาบานมีอยู่ว่า “ เหตุการณ์ครั้งนี้หากใครผิด ขอให้บุคคลที่ตนรักที่สุดเสียชีวิตลงทันที “ ข้อตกลงคือ หลังจากสาบาน จะไม่เคืองแค้น เหตุการณ์ทะเลาะจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ขอให้ทั้งคู่เลิกแล้วกันไป รอเพียงเจ้าพ่อเป็นคนยืนยันคนผิด
เราขอไม่ไปเป็นผู้ร่วมเหตุการณ์คำสาบานใต้ต้นเหลื่อม ให้เหตุผลกับเด็กทั้งคู่ว่า “ ครูเชื่อคำสาบาน มันแรงและน่ากลัวที่สุด คุณครูไม่ขอมีส่วนร่วมในครั้งนี้ “ จึงให้ทั้งคู่ลงไปดำเนินการเอง เพียงลอบมองไปทางหน้าต่าง จึงเห็นเด็กชายและเด็กหญิงทั้งคู่ยืนใต้ต้นเหลือม เด็กชายเป็นคนพูดนำคำสาบาน ส่วนเด็กหญิงเป็นคนพูดตาม เมื่อกระทำพิธีสาบานเสร็จสิ้น คนทั้งคู่ก็แยกย้ายกลับบ้าน ส่วนเราเดินกลับมานั่งทำงานต่อ
ทำงานจนล่วงเวลามานานเหลือบไปดูนาฬิกาที่ฝาห้อง 6 โมงกว่า จึงเดินไปปิดหน้าต่างห้องเรียนเตรียมกลับบ้าน พลันสายตาเหลือบไปที่ใต้ต้นเหลือมอีกครั้ง คราวนี้เจอเด็กหญิงแป้งยืนพนมมืออยู่คนเดียว ใต้ต้นเหลือม เรารู้แล้วใครผิด เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปราวสามสัปดาห์ เด็กหญิงแป้งขาดเรียน ถามเด็กนักเรียนที่อยู่บ้านใกล้ๆ มีเสียงตอบกลับมาว่า เด็กหญิงแป้งไปงานศพพ่อ พ่อเสียชีวิตจากการถูกรถที่จังหวัดมุกดาหาร เมื่อเด็กชายจ้อนทราบข่าวว่า พ่อของคู่อริเสียชีวิต อาการโกรธอาฆาต ก็หมดสิ้นไป เจ้าตัวตอบครูเสียงอ่อยว่า “ ผมเสียใจครับ”
เหตุการณ์ครั้งนี้คนที่ผิดมากที่สุด น่าจะเป็นเรา คนเป็นครู เมื่อรู้ว่าการสาบานเป็นเรื่องไม่ดี เหตุใด จึงไม่ยอมห้ามปรามเด็ก พยายามคิดเข้าข้างตนเองว่า มันคืออุบัติเหตุิ ไม่เกี่ยวกับคำสาบานแต่อย่างใด แต่ทว่าทุกครั้งที่ผ่านต้นเหลื่อม เราก็อดที่จะคิดไม่ได้มันอาจเนื่องมาจากคำสาบาน บทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ คำที่หลุดออกจากปาก มันคือคำศักดิ์สิทธิ์ ประทานให้ทั้งพรและสิ่งอัปมงคล แต่ทั้งหมดเรากำหนดได้ จากการพูดดี คิดดี และทำดี จะจำใส่ใจไว้เป็นบทเรียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น